กระทรวงพลังงาน – เกษตรฯ กำหนดแผนส่งเสริมพืชพลังงานเป็นรูปธรรม นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการส่งเสริมการพัฒนาพลังงานทดแทนให้เป็นรูปธรรม กับ
พืชพลังงาน
นพ.วรรณรัตน์ กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นพันธสัญญาในความร่วมมือพัฒนาพืชพลังงานทดแทนให้ เห็นผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น ทั้งการพัฒนาบุคลากรด้านพลังงานทดแทน สนับสนุนข้อมูล ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาพลังงานทดแทนในรูปแบบต่าง ๆ โดยตั้งเป้าหมายจากข้อตกลงดังกล่าว เช่น ด้านเชื้อเพลิงชีวภาพได้กำหนดเป้าหมายใช้น้ำมันปาล์มในการผลิตไบโอดีเซล 600,000 ตันต่อปี ภายในปี 2554 และเพิ่มเป็น 1.1 ล้านตันในปี 2565 ขณะที่การผลิตเอทานอลจะมีการส่งเสริมให้ใช้มันสำปะหลัง 1.5 ล้านตันในปี 2554 และเพิ่มเป็น 9 ล้านตันในปี 2565 โดยกระทรวงเกษตรฯ จะร่วมส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะปลูกพืชพลังงานให้ได้ตามเป้าหมายดังกล่าว
นอกจากนี้ จะเร่งรัดการพัฒนาพลังงานทดแทนอื่น เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ โดยมีการตั้งเป้าว่าจะส่งเสริมระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์นอกเขตสายส่ง ผลิตไฟฟ้าอีก 2,000 กิโลวัตต์ภายในปี 2565 พลังงานลม ส่งเสริมให้ได้อีก 800 เมกะวัตต์ในปี 2565 พลังงานน้ำ กำหนดเป้าหมายผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำจากท้ายเขื่อนและอาคารชลประทาน 140 เมกะวัตต์ในปี 2565 ขณะที่พลังงานชีวมวลจะมีการส่งเสริมให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานดังกล่าวอีก 3,700 เมกะวัตต์. โดยสำนักข่าวไทย
พืชพลังงานทดแทน
กระถินยักษ์ พืชพลังงาน เชื้อเพลิงร่วมป้อนโรงไฟฟ้าชีวมวล ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี มุ่งให้ประเทศไทยใช้พลังงานทดแทนเป็นหลักของประเทศแทนการนำเข้าน้ำมัน โดยวางเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนให้เป็นร้อยละ 20 ของการใช้พลังงานในปี 2565 ซึ่งพลังงานทดแทนที่มีการส่งเสริมให้มีการนำมาใช้สูงสุดคือ พลังงานชีวมวล จำนวน 3,700 เมกะวัตต์ หนึ่งในพลังงานชีวมวลที่น่าสนใจคือ นำไม้โตเร็วมาเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จัดทำโครงการ “ศึกษาความเป็นไปได้การปลูกไม้โตเร็วเพื่อเป็นพลังงานชีวมวล” เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเชื้อเพลิงชีวมวลสำหรับผลิตไฟฟ้าและทำความร้อน และเพื่อส่งเสริมการขยายพื้นที่ป่าโตเร็วเพื่อนำมาใช้เป็นพลังงาน โดยไม่ส่งผลกระทบต่อพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น จากการศึกษาพบว่า กระถินยักษ์ กระถินเทพา และยูคาลิปตัส เป็นพันธุ์ไม้ที่มีการเจริญเติบโตเร็วและปลูกง่าย
วีรชัย อาจหาญ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีวมวล อาจารย์คณะวิศวกรรมเกษตร มทส. เล่าให้ฟังว่า มหาวิทยาลัยได้ทำโครงการวิจัยการปลูกกระถินยักษ์เพื่อเป็นพลังงานชีวมวลว่า ตั้งแต่ปี 2547 จนนับถึงปัจจุบันกระถินยักษ์ที่ปลูกในพื้นที่นำร่อง 4 แห่งด้วยกัน โดยการสนับสนุนด้านงบประมาณ และเมล็ดพันธุ์ และองค์ความรู้จาก มทส. ได้แก่โครงการธรรมรักษ์นิเวศน์ 2 จ.ลพบุรี ในพื้นที่ปลูกประมาณ 500 ไร่ ภายใต้ความดูแลของวัดพระบาทน้ำพุ โรงไฟฟ้าด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ประมาณ 2,000 ไร่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา จำนวน 300 ไร่ สามารถนำมาใช้เพื่อป้อนโรงไฟฟ้าได้แล้ว โดย กระถินยักษ์สามารถใช้ในโรงไฟฟ้าด่านช้าง ที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 30 เมกะวัตต์ ใช้เชื้อเพลิงจากกระถินยักษ์ที่ปลูกในพื้นที่ 5,000 ตัน โดย สัดส่วนของจำนวนเชื้อเพลิงดังกล่าวผลิตไฟฟ้าได้ 0.7 เมกะวัตต์
ขณะที่ในพื้นที่สำหรับโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการปลูกไม้โตเร็วเพื่อ เป็นพลังงานทดแทน ในโครงการธรรมรักษ์นิเวศน์ 2 ซึ่งเป็นโครงการหนึ่งของวัดพระบาทน้ำพุ ที่กำลังรอโรงไฟฟ้ากำลังการผลิต 1 เมกะวัตต์ เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ภายในโครงการต้นแบบบ้านพักผู้ป่วยในระยะสุดท้าย รวมทั้งพื้นที่ปลูกกระถินยักษ์ของมหาวิทยาลัยสามารถที่จะป้อนให้โรงไฟฟ้า ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกไม้โตเร็วในโครงการธรรมรักษ์นิเวศน์ 2 ประมาณ 500 ไร่ และพื้นที่ ของเกษตรกรบริเวณใกล้เคียงจำนวน 500 ไร่ ทั้งนี้มีเป้าหมายปลูกไม้โตเร็วให้ได้ 4,000 ไร่ ซึ่ง มทส. ได้สนับสนุนเทคโนโลยีการเพาะพันธุ์ โดยมีการสร้างแปลงเพาะในโครงการธรรมรักษ์นิเวศน์ 2 มีกำลังการผลิต 200,000 กล้าต่อเดือน สำหรับไม้โตเร็วเหล่านี้จะนำไปป้อนโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 1.5 เมกะวัตต์ เพื่อใช้เป็นพลังงานร่วม เป้าหมายเพื่อการผลิตพลังงานชีวมวลของภาครัฐ
ทั้งนี้มีการปลูกไม้โตเร็วในโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการปลูกไม้โตเร็ว เพื่อเป็นพลังงานชีวมวลแล้วเกือบ 8,000 ไร่ และมีการแจกจ่ายกล้าไม้เพื่อปลูกไปแล้วกว่า 1.5 ล้านตัน และเมล็ดพันธุ์กว่า 1,000 กิโลกรัม โดยไม้ที่โตเต็มที่แล้วจะถูกป้อนเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้าดังกล่าว ในฐานะเป็นพลังงานร่วม
หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีวมวล อาจารย์คณะวิศวกรรมเกษตร มทส. กล่าวต่อว่า ในบรรดาพืชที่ให้พลังงานชีวมวล กระถินยักษ์ เป็นพืชที่น่าสนใจและทดลองแล้วได้ผลดี เพราะเป็นไม้โตเร็ว ใช้ระยะเวลาปลูก 4-5 ปีสามารถตัดมาใช้เพื่อทำเชื้อเพลิงได้ อีกทั้งเป็นพืชที่ไม่ต้องดูแลมากนัก กระถินยักษ์ในตระกูลถั่วที่สามารถดึงไนโตรเจนในอากาศมาใช้ นอกจากคุณสมบัติดีด้านโตเร็วแล้ว ยังสามารถทำเยื่อกระดาษเหมือนกับต้นยูคาลิปตัสได้ แต่ไม่ได้รับความนิยมเพราะโรงงานเยื่อกระดาษในบ้านเราออกแบบเครื่องจักรมา สำหรับยูคาลิปตัส ซึ่งในสมัยหนึ่ง เคยมีการส่งเสริมให้ปลูกกระถินยักษ์เพื่อผลิตเยื่อกระดาษแต่เกิดโรคเพลี้ย ไก่ฟ้าระบาดในปี 2520 ทำให้การปลูกกระถินยักษ์ไม่ได้รับความสนใจ
ขณะที่ยูคาลิปตัสเริ่มได้รับความนิยม ในฐานะไม้โตเร็วหมือนกัน แต่กระถิ่นยักษ์ถือว่าเป็นไม้เบิกนำได้ดีกว่า ในพื้นที่แห้งแล้งภูเขาหัวโล้น นำกระถินยักษ์ไปปลูกเพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวและเป็นไม้เบิกนำได้ แต่ถ้ามองในแง่คุณภาพดิน ทั้งไม้ยูคาลิปตัสและกระถินยักษ์เป็นพืชที่เติบโตเร็ว ต้องใช้ธาตุอาหารจากดินไม่ต่างกัน การปลูกพืชชนิดนี้ต้องดูแลบำรุงดิน แต่กระถินยักษ์ดึงไนโตรเจนออกจากดินได้น้อยกว่า เพราะ มีไลโซเปียม ดึงไนโตรเจนในอากาศออกมาใช้เมื่อเทียบความเสื่อมของดินจึงมีน้อยกว่า ยูคาลิปตัส ขณะที่ยอดกระถิน และใบนำมาเป็นอาหารสัตว์ได้ ส่วนปัญหาแมลงศัตรูพืชของกระถินยักษ์ ปัจจุบันสามารถใช้ตัวห้ำตัวเบียนเพื่อจัดการปัญหาได้แล้ว
อย่างไรก็ตามที่จะปลูกไม้โตเร็วอย่างกระถินยักษ์เพื่อเป็นพลังงานทดแทนใน พื้นที่อื่น ๆ นั้น ขึ้นอยู่กับพื้นที่ ต้องเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่จำนวน 1,000 ไร่ขึ้นไป คำนึงถึงเส้นทางการขนส่ง มีโรงไฟฟ้าในพื้นที่ เหมาะกับโรงไฟฟ้าขนาดเล็กที่ผลิตไฟฟ้าใช้ในอุตสาหกรรม เฉกเช่นเดียวกับพลังงานชีวมวลต่าง ๆ ที่กำลังศึกษาวิจัยไม่ว่าจะเป็นฟางข้าว เหง้ามันสำปะหลัง สิ่งเหล่านี้เป็นอีกหนึ่งของพลังงานทดแทนที่กำลังมีอนาคต ที่จะมาใช้ช่วยเสริมเป็นพลังงานหลัก แต่ต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านอื่นควบคู่กันไปด้วย.
ข้อมูลการเกษตรที่เกี่ยวข้อง ที่อาจสนใจ
- การเกษตรทฤษฎีใหม่
- กิ่งยางพารา พันธุ์ดี
- งานเกษตรแฟร์ 2554 ที่ เกษตรศาสตร์ บางเขน
- งานเกษตรแฟร์ประจำปี 2554 วันนี้วันแรก เลี่ยงเส้นทาง
- ต้นแบบ ไบโอดีเซล ที่พึ่งประชาชนยุคน้ำมันแพง